วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

กองคลังเกี่ยวกับการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม เพื่อเผยแพร่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นตัวอย่างที่ดีๆ

เล่าสู่กันฟัง
                   เวลาได้อ่านได้ฟังอะไรดีๆ ก็ชอบสังเกตจดจำ แล้วก็ชอบจด เพราะเห็นว่า การจำอย่างเดียวเดี๋ยวเดียวก็ลืมแล้ว เป็นเช่นนี้อยู่บ่อยๆค่ะ  ชอบวิชาภาษาไทย(ความจริงก็ไม่ได้เป็นพิเศษอะไรมากนัก) เพราะโชคดีได้พบได้เจออาจารย์ดีๆ หลายวิชา ไม่เฉพาะวิชาเรียนเท่านั้น วิชาชีวิต ก็มาจากคุณป๋าและธรรมชาติกับบุคคลรอบข้าง ความได้ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ที่ดี(ชอบ)มาตั้งแต่เด็ก ทำให้เราได้เรียนรู้ ซึมซาบ จากประสบการณ์ชีวิตจริงของท่านทั้งหลาย ทั้งจากความรู้ การวางตน สัจธรรมของชีวิต ก็ได้ผ่าน ได้เห็นมา จนวัยขนาดนี้แล้ว(ไม่บอกอายุนะ) ก็อยากจะขอฝากสิ่งดีๆ ไว้ให้น้องๆหลานๆ รุ่นหลังๆบ้าง แต่ทั้งนี้ก็สุดแล้วแต่ว่าจะเก็บเกี่ยวและนำไปใช้กันไหม มันใช้ได้กับชีวิตประจำวันของเราทั้งในครอบครัวและชีวิตการงาน ทุกอย่างสุดแต่ใจจะไขว่คว้า เลือกคว้ากันเอาเองนะ ดีชั่ว สุขทุกข์ ก็อยู่ที่ใจเรา มีหลายเรื่องมากไว้ค่อยๆเล่าสู่กันฟังนะคะ
                   เมื่อเร็วๆนี้เอง ได้เข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “เทคนิคการสร้าง และพัฒนาทีมงานสู่ความสำเร็จ ในวันที่ ๒๔-๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ ณ โรงแรมนิวทราวิล บีช รีสอร์ท จ.จันทบุรี” เป็นการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับ เทคนิคการสร้างและพัฒนาทีมงานสู่ความสำเร็จ ทั้งนี้ก็เป็นการพัฒนาให้บุคลากร กองคลัง มีความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่ถูกต้องในการทำงานเป็นทีม และมีจิตสำนึกที่เหมาะสมในฐานะเป็นสมาชิกของหน่วยงาน รวมทั้งสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์ของโครงการอบรมต่างๆก็ดูดี เป็นความตั้งใจของผู้รับผิดชอบโครงการนั้นๆ อยากให้มีอยากให้เป็น ถ้าเป็นไปตามนั้นได้บุคลากรของหน่วยงานที่มีจิตสำนึกที่ดี มีทัศนคติที่ดี ก็จะเป็นบุคลากรที่น่าจะมีคุณภาพ เป็นองค์กรที่ดี
                   มีข้อความอยู่ตอนหนึ่งในระหว่างที่วิทยากร อาจารย์สุวัฒน์   ชมพูพงษ์(ซึ่งมากับบุตรชายวิทยากรร่วมซึ่งเป็นอาจารย์จากมหาวิยาลัยกรุงเทพฯ ชื่ออาจารย์สรวิช   สรมณาพงษ์(นามสกุลมารดา) ที่หน้าตาดี ขาวเหมือนพระเอกหนังเกาหลี ทำเอาสาวๆหนุ่มๆกองคลัง กระตือรือร้น ที่จะรับฟังการบรรยายกันแบบตั้งใจโดยพร้อมเพรียง) ข้อความที่ว่าอุตสาห์จะจำคำพูดดีๆจากอาจารย์นำมาสรุปตอนกล่าวขอบคุณวิทยากรให้ประทับใจเสียหน่อย(การสรุปขอบคุณวิทยากร ถ้าเราสามารถจับประเด็นสำคัญเด็ดๆ มาสรุปได้(แบบย่อๆ) จะทำให้วิทยากรมีความภาคภูมิใจนะว่าเราตั้งใจฟัง...? และก็จะสามารถสร้างความประทับใจให้แก่วิทยากรและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้... (ก็นิดหนึ่งนะคะแอบแวะให้วิทยาทานแก่น้องๆหน่อย ใครอยากรู้มากกว่านี้ สนใจยินดีติดต่อโดยตรงได้ไม่ปิดบังวิชาค่ะ)... วันนั้นเกิดหลุดวรรคสุดท้าย ถามคนข้างซ้ายก็ไม่รู้ ถามคนข้างขวาก็ไม่ทราบจำไม่ได้ จะพึ่งใครดีหนอ! เอาล่ะอยากพูด หาจังหวะ เว้นให้อาจารย์เติมเต็มท่าจะดี เพราะชั่งใจวัดตามความน่าจะเป็นแล้ว อาจารย์เป็นอาจารย์โดยอาชีพ คงไม่ปล่อยให้ศิษย์ ได้อะไรไปไม่ครบหรอก (ก็เราเคยเป็นอาจารย์สมัครเล่นมาก่อน... คิดว่าน่าจะเหมือนกัน)... โล่งอกอาจารย์เพิ่มเติมเต็มให้จริงๆ เราก็ทำเนียนว่า... ค่ะ ข้อสุดท้าย คือ…………
                   หลังจากเสร็จการบรรยาย เสร็จกิจกรรมพวกเราทั้งหมดก็เดินทางกลับ วันหนึ่งได้มาอ่านหนังสือพิมพ์(ความจริงก็ไม่ค่อยได้อ่านหรอกชอบฟังชอบดูมากกว่า) วันนั้นอ่านพบพอดี เนื้อหาใจความคล้ายกับที่อาจารย์สอนเลยจดบันทึกเอาไว้ซึ่งจะขอนำมาย่อๆ ให้พวกเราได้ผ่านสายตา ผ่านสมองกัน(ใครใคร่นำไปปฏิบัติ ก็ขอให้มีสุข ความสำเร็จในชีวิต ในทุกๆสถานะ ที่เป็นเทอญฯ)


คัดย่อมาจากธรรมะอินเทรน โดย มหาวุฒิชัย (ว.วัชรเมธี) เดลินิวส์ วันพุธที่ ๒๓ ก.พ.๕๔
“การคิดดี ทำดีนั้นมองเผินๆ ก็เหมือนจะพอแล้ว แต่ถ้ามองให้ลึกซึ้งกว่านั้น ก็ควรจะเติมอะไรดีๆ เข้าไปได้อีกมากมาย เช่น คิดดี-พูดดี-ทำดี-มนุษย์สัมพันธ์ดี-รับผิดชอบดี-อารมณ์ดี-ใจดี ฯลฯ” ลองปรับตัวให้มีมนุษย์สัมพันธ์ดีกว่าเดิม โดยปรับตัวตามแนวทางสร้างมนุษย์สัมพันธ์ ตามสูตรของพระพุทธเจ้า ๔ ประการ
คือ เอื้ออารี วจีไพเราะ สงเคราะห์มวลชน วางตนเสมอสมาน(วางตนเหมาะสม)
เอื้ออารี หมายถึง การฝึกเป็นผู้ให้ เพราะผู้ให้ย่อมได้รับการให้ตอบ การให้คือการเชื่อมไมตรีที่มีผลต่อสัมพันธ์ภาพที่ดีเยี่ยม
                   “หากเราให้ขนมชิ้นหนึ่ง เรากินคนเดียวก็อิ่มแค่คนเดียว แต่หากแบ่งให้เพื่อน ขนมชิ้นนั้นจะอิ่มอยู่ในใจเพื่อนไปตลอดกาล”
วจีไพเราะ หมายถึง การเป็นคนพูดจาน่ารับฟัง ช่างพูดช่างจา มีวาทะศิลป์ในการพูด รู้จักว่าเมื่อไหร่จะพูด เมื่อไหร่จะนิ่ง เมื่อไหร่ควรพูดเล่น เมื่อไหร่ควรพูดจริง
          “การพูดเป็นเครื่องมือ ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดชนิดหนึ่ง ในการสร้างความสำเร็จ”
สงเคราะห์มวลชน หมายถึงการเป็นคนดี มีอัธยาศัยไมตรี เข้ากับสังคมคนส่วนใหญ่ได้ เห็นใครทำอะไรแล้วไม่นิ่งเฉย มีจิตสำนึกสาธารณะ ชอบช่วยเหลือเกื้อกูล เพื่อนร่วมงาน เพื่อนมนุษย์ กล่าวสั้นที่สุด คือการไม่เห็นแก่ตัว
วางตนเสมอสมาน (วางตนเหมาะสม) หมายถึง การปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมงาน และสังคมต่างๆได้อย่างปกติสุข รู้ว่าสิ่งใดควรทำ ไม่ควรทำ ควรพูดไม่ควรพูด มีความเคารพนพนอบ รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่วางตนข่มท่าน
          สูตร ๔ ประการข้างต้น ไม่น่าจะยาก แต่ก็ไม่ง่าย ต้องฝึกตนเองกันบ่อยๆ แล้วก็จะเป็นธรรมชาติ เป็นคนดีที่คิดดี ทำดี มีความสุข ทั้งตนเอง ครอบครัวและสังคมต่อไป
          โอกาสหน้ามีอะไรดีๆ จะมาเล่าสู่กันฟังใหม่นะคะ กองคลังมี Blog เกี่ยวกับการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม เพื่อการเผยแพร่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้ว เชิญพี่ๆน้องๆกองคลัง และเครือข่ายทั้งหลายแวะมาเยือน และส่งข้อมูลแลกเปลี่ยนสาระดีๆมีประโยชน์ต่อกันได้ค่ะ
          อ้อ เฉพาะเจ้าหน้าที่กองคลังนะคะ ใครสามารถตอบคำถามได้ว่า ข้อสุดท้ายที่หลุดไป คือ อะไร มีรางวัลให้ค่ะ ขอให้ตอบที่ Blog กองคลัง ภายในวันที่ 17 ตุลาคม 2554 นี้นะคะ ถ้าตอบถูกหลายคนขอจับฉลาก แล้วมารับรางวัลที่พี่สายพิณค่ะ
                                                                                                     แล้วพบกันใหม่นะคะสวัสดีค่ะ
                                                                                                           สายพิณ   ศุภมนตรี
                                                                                                    กลุ่มบัญชี กองคลัง กรมอนามัย
                                                                                                               ๑๘ เม.ย.๕๔